โลโก้เว็บไซต์ มทร.ล้านนา รับรางวัล Most Contribution Award องค์กรที่เป็นเลิศโดดเด่นด้านไซเบอร์ฯ ในงาน Prime Minister Awards ๒๐๒๔ | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

มทร.ล้านนา รับรางวัล Most Contribution Award องค์กรที่เป็นเลิศโดดเด่นด้านไซเบอร์ฯ ในงาน Prime Minister Awards ๒๐๒๔

เผยแพร่เมื่อ : อังคาร 14 มกราคม 2568 โดย ณัฏฐ์พัฒน์ คนมีฉลาด จำนวนผู้เข้าชม 138 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๘ ที่ผ่านมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ลือโขง ผู้อำนวยการ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (สวส.มทร.ล้านนา) ตัวแทน มทร.ล้านนา พร้อมด้วย ผศ.นพณัฐ วรรณภีร์ อาจารย์คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ และนายประเสริฐ เทพภาพ นักวิชาการคอมพิวเตอร์ ชำนาญการ งานพัฒนาระบบเครือข่าย เข้ารับรางวัล Most Contribution Award สำหรับองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถทางด้านไซเบอร์ของประเทศ ในงาน Prime Minister Awards : Thailand Cybersecurity Excellence Awards ๒๐๒๔ ณ โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร

สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) จัดพิธีมอบรางวัลอันทรงเกียรติ "Prime Minister Awards: Thailand Cybersecurity Excellence Awards ๒๐๒๔” เพื่อเชิดชูองค์กรที่มีผลงานโดดเด่นด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ มีพลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการฯ สกมช. กล่าวรายงาน ได้รับเกียรติจาก ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี ท่ามกลางตัวแทนจากหน่วยงานรัฐ หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (CII) บริษัทเอกชน และศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัย (CERT) รวมไปถึงผู้ให้บริการระบบคลาวด์ (CSP) ที่เข้าร่วมงานกันอย่างคับคั่ง 

โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศไทย และเสริมสร้างบทบาทของประเทศในฐานะศูนย์กลางความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งยังส่งเสริมการดำเนินงานและกำกับดูแลให้หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน และหน่วยงานอื่น ๆ ยกระดับขีดความสามารถในการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามไซเบอร์ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ๒๕๖๒ และเป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมถึงเป็นการสร้างความตระหนักและการรับรู้ถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยการดำเนินการคัดเลือกหน่วยงานที่มีการดำเนินงานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ดีเด่นระดับชาติ ประจำปี ๒๕๖๗ ซึ่งภายในงานได้มอบรางวัลให้กับองค์กรที่แสดงถึงความเป็นเลิศด้านไซเบอร์ใน ๓ ประเภทสำคัญ ได้แก่ ๑. Best Performance Award สำหรับองค์กรที่มีผลงานโดดเด่นในการป้องกันและรับมือภัยคุกคามไซเบอร์  ๒. Most Contribution Award สำหรับองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถด้านไซเบอร์ของประเทศ  และ ๓. Special Awards สำหรับองค์กรที่สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในอุตสาหกรรมความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์  ซึ่งผู้ชนะรางวัลทุกประเภทได้รับการประเมินจากเกณฑ์ที่เข้มงวด ครอบคลุมทั้งด้านการบริหารความเสี่ยง การปฏิบัติตามมาตรฐานสากล เช่น ISO ๒๗๐๐๑ และกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของ สหภาพยุโรป (General Data Protection Regulation : GDPR) รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพบุคลากร เป็นต้น

ด้าน ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ความสามารถในการป้องกันภัยคุกคามและสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบดิจิทัลถือเป็นสิ่งจำเป็น งานนี้สะท้อนถึงความสำเร็จขององค์กรไทยที่สามารถรับมือกับความท้าทายระดับโลกและส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงเน้นย้ำให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยสนับสนุนการกำกับ ดูแล ให้หน่วยงานต่างๆ สามารถป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ พร้อมเดินหน้าพัฒนาตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านไซเบอร์ของไทยให้ทัดเทียมสากล และเชื่อมั่นว่าความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในวันนี้จะเป็นรากฐานสำคัญที่ผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลให้เติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน"

ส่วนพลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า "ในนามของ สกมช. ขอแสดงความยินดีกับทุกหน่วยงานที่ได้รับรางวัลในวันนี้ ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาขีดความสามารถด้านไซเบอร์ขององค์กรไทย รางวัลเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงเกียรติยศ แต่เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการยกระดับมาตรฐานไซเบอร์ในทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น การลงทุนในด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์จึงไม่ใช่เรื่องทางเลือก แต่เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ประเทศไทยพร้อมที่จะก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของอาเซียน พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและประชาชนในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล"

ชมภาพกิจกรรมเพิ่มเติม : คลิกที่นี่

ข่าว : ณัฏฐ์พัฒน์ คนมีฉลาด กลุ่มงานบริการการศึกษา สวส.มทร.ล้านนา
ที่มา : ประเสริฐ เทพภาพ งานพัฒนาระบบเครือข่าย สวส.มทร.ล้านนา , สกมช.