โลโก้เว็บไซต์ มทร.ล้านนา จัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2568) เพื่อสร้างมาตรฐานการเรียนรู้ที่สอดคล้องกันทั้ง 6 พื้นที่ | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

มทร.ล้านนา จัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2568) เพื่อสร้างมาตรฐานการเรียนรู้ที่สอดคล้องกันทั้ง 6 พื้นที่

เผยแพร่เมื่อ : อังคาร 27 พฤษภาคม 2568 โดย วิทยา กวีวิทยาภรณ์ จำนวนผู้เข้าชม 236 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน (สวท.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การพัฒนาหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2568)” ระหว่างวันที่ 27–28 พฤษภาคม 2568 ณ ห้องประชุมราชาวดี โรงแรมคุ้มภูคำ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีคณาจารย์ผู้รับผิดชอบหมวดวิชาศึกษาทั่วไปจากทั้ง 6 พื้นที่ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ตาก พิษณุโลก และน่าน พร้อมด้วยคณาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรจาก 4 คณะ 1 วิทยาลัยฯ เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง เพื่อร่วมกันจัดทำร่างหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไปที่มีมาตรฐานเดียวกันภายใต้กรอบแนวคิด Outcome-based Education (OBE) และการกำหนด ผลลัพธ์การเรียนรู้หมวดวิชาศึกษาทั่วไป (General Education Learning Outcomes: GELOs)

ภายในพิธีเปิด ได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนนท์ นำอิน รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ วิจัยและบริการวิชาการ เป็นประธานเปิดโครงการและบรรยายพิเศษเรื่อง “นโยบายการพัฒนาหมวดวิชาศึกษาทั่วไป 24 หน่วยกิต” พร้อมด้วย  ผู้ช่วยศาสตราจารย์มนัส สุนันท์ รองผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของโครงการต่อประธาน และนำเสนอภาพรวมการพัฒนาหลักสูตรหมวดศึกษาทั่วไป (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2568) รวมถึงผลลัพธ์การเรียนรู้และโครงสร้างรายวิชาในแต่ละกลุ่มกิจกรรมตลอดการอบรม ประกอบด้วยการนำเสนอรายงานจากประธานกลุ่มวิชา 4 กลุ่ม ดังนี้

  1. กลุ่มวิชาภาษาเพื่อการสื่อสาร

  2. กลุ่มวิชาความเป็นพลเมืองไทยและพลเมืองโลก

  3. กลุ่มวิชาเทคโนโลยีและการเสริมสร้างนวัตกรรม

  4. กลุ่มวิชาส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการ

แต่ละกลุ่มได้รายงานความสอดคล้องระหว่างผลลัพธ์การเรียนรู้กับรายวิชา พร้อมทั้งเสนอ กลยุทธ์การจัดการเรียนรู้ กิจกรรมเสริมหลักสูตร และแนวทางการจัดการทรัพยากรสนับสนุนที่เหมาะสม

จากนั้นเป็นกิจกรรมวิพากษ์ร่างหลักสูตรโดย คณะกรรมการอำนวยการหมวดวิชาศึกษาทั่วไป และ คณะกรรมการวิพากษ์หมวดวิชาศึกษาทั่วไป ซึ่งได้ให้ข้อเสนอแนะเชิงวิชาการอย่างเข้มข้น เพื่อพัฒนาหลักสูตรให้ตอบสนองความต้องการของผู้เรียน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และหลักสูตรวิชาชีพของมหาวิทยาลัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วงท้ายของโครงการ คณะทำงานได้ร่วมกัน:

  • สรุปแนวทางการจัดหน่วยกิตหมวดวิชาศึกษาทั่วไปให้ครอบคลุม 24 หน่วยกิต

  • แบ่งกลุ่มย่อยเพื่อทบทวนรายวิชาตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ

  • นำเสนอร่างรายวิชาใหม่ พร้อมจัดทำ ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวัง (GELOs)

  • สรุปกลยุทธ์การสอน การวัดและประเมินผลให้สอดคล้องกับเป้าหมายการเรียนรู้

  • ร่างข้อมูลพื้นฐานของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป อาทิ ปรัชญาการศึกษา วัตถุประสงค์ จุดเด่นของหมวดวิชา และแนวทางการออกแบบหลักสูตร

โครงการครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญของมหาวิทยาลัยฯ ในการยกระดับหมวดวิชาศึกษาทั่วไปให้มีความทันสมัย ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม และสนับสนุนเป้าหมายด้านการเรียนรู้ของนักศึกษาในศตวรรษที่ 21 อย่างแท้จริง