โลโก้เว็บไซต์ สาขาวิทยาศาสตร์ มทร.ล้านนา ลำปาง ร่วมแสดงนิทรรศการและจัดกิจกรรม workshop ย้อมถุงผ้าด้วยสีครั่งธรรมชาติ ผลการศึกษา ต่อยอดจากงานวิจัยสู่การนำไปใช้จริง | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

สาขาวิทยาศาสตร์ มทร.ล้านนา ลำปาง ร่วมแสดงนิทรรศการและจัดกิจกรรม workshop ย้อมถุงผ้าด้วยสีครั่งธรรมชาติ ผลการศึกษา ต่อยอดจากงานวิจัยสู่การนำไปใช้จริง

เผยแพร่เมื่อ : อังคาร 21 มกราคม 2568 โดย จารุวรรณ สุยะ จำนวนผู้เข้าชม 261 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

          ทีมคณาจารย์สาขาวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง (มทร.ล้านนา ลำปาง) ร่วมแสดงนิทรรศการและจัดกิจกรรม workshop ย้อมถุงผ้าด้วยสีครั่งธรรมชาติ  ภายในงาน “ มหัศจรรย์เส้นใยสีธรรมชาติ สัมผัสเสน่ห์ผ้าไทย ย้อมสีธรรมชาติ” ระหว่างวันที่ 18-19 มกราคม 2568  ณ กาดนั่งก้อม สวนสาธารณะหนองกระทิง จังหวัดลำปาง
         การจัดกิจกรรมดังกล่าว ทางบูธได้รับเกียรติจากนางสาวเปรมิกา ป๊อกคำอู๋ นางสาวไทยลำปาง ปี 2568 ร่วมทำเวิร์คช็อป ย้อมถุงผ้าด้วยสีครั่งธรรมชาติ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ จังหวัดลำปาง และได้รับการตอบรับอย่างดีมาก จากนักท่องเที่ยวภายใน กาดนั่งก้อมร่วมกิจกรรม
         สำหรับการย้อมสีผ้าธรรมชาติเป็นหนึ่งในองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยที่มีการถ่ายทอดสู่ชุมชนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ที่คณะนักวิจัยสาขาวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร ได้ศึกษาและดำเนินโครงการวิจัยเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันหัตถกรรมสิ่งทอภาคเหนือตอนบนด้วยนวัตกรรมและวัฒนธรรมสร้างสรรค์ตลอดห่วงโซ่การผลิตที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า โดยงานวิจัยนี้เป็นการศึกษาและผลิตผงสีจากธรรมชาติในชื่อ LannaChrome ตามโทนสีที่เป็นเอกลักษณ์ของล้านนา โดยได้ทำการถอดสีมาจากภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดและภาพจิตรกรรมบนผืนผ้าหรือภาพพระบฏซึ่งมีอายุนับร้อยปีด้วยโปรแกรม Real colors pro® และทำการรวบรวมและถ่ายทอดเป็นหนังสือแก่ผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจในเรื่องของสีธรรมชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของล้านนากับงานทางด้านผลิตภัณฑ์สิ่งทอซึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมของคนไทยมาช้านาน นับเป็นงานวิจัยที่ส่งผลต่อการสร้างอัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์ให้มีความโดดเด่นทั้งการออกแบบ คุณภาพและเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง โดยมีการถ่ายทอดองค์ความรู้และปรับปรุง พัฒนาเทคนิคต่างๆ แก่นักเรียน นักศึกษาและประชาชนอย่างต่อเนื่อง และการจัดกิจกรรมครั้งนี้นับว่าเป็นงานบริการวิชาการของสาขาวิทยาศาสตร์ด้วย
         ข่าว : จารุวรรณ สุยะ
         ภาพ : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณฤทธิ์  ฟั่นสืบ
         ที่มาของข่าว : อ.ศุภินันทร์  จันมา / พจมาศ  คำปัน