โลโก้เว็บไซต์ มทร.ล้านนา จัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพครู สกร. ภาคเหนือด้วย อววน. | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

มทร.ล้านนา จัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพครู สกร. ภาคเหนือด้วย อววน.

เผยแพร่เมื่อ : พุธ 17 กรกฎาคม 2567 โดย รัตนาภรณ์ สารภี จำนวนผู้เข้าชม 1485 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

 

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (มทร.ล้านนา) โดยคลินิกเทคโนโลยี ภายใต้การกำกับของสถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน ร่วมกับ กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ "การพัฒนาศักยภาพครู สกร. ภาคเหนือ ด้วย อววน." ระหว่างวันที่ 14-16 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ณ โรงแรมคุ้มภูคำ จังหวัดเชียงใหม่

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นให้กับครูศูนย์การเรียนรู้ระดับตำบล (ครู สกร.) จาก 10 จังหวัดภาคเหนือ ให้สามารถทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการนำวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ไปสู่ชุมชน และนำปัญหา/ความต้องการด้าน ววน. ของชุมชนมาสู่กระทรวง อว. ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็งสำหรับการดำเนินงานด้าน ววน. เพื่อตอบสนองความต้องการในพื้นที่

กิจกรรมตลอด 3 วันประกอบด้วย การบรรยายเกี่ยวกับบทบาทภารกิจของ สป.อว. และกลไกการทำงานของ กปว. การศึกษาดูงานเทคโนโลยีที่น่าสนใจด้านการเกษตรและการพัฒนาอาหารที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้โมเดลต้นแบบการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง สกร. และ อว. และการนำเสนอแนวทางการพัฒนาแผนงานโครงการจากการวิเคราะห์ความต้องการเชิงพื้นที่ของครู สกร.

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ไพโรจน์ วรพจน์พรชัย ผู้จัดการคลินิกเทคโนโลยี มทร.ล้านนา กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาศักยภาพครู สกร. ให้สามารถนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไปประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งหวังว่าความร่วมมือนี้จะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน

ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการประชุมครั้งนี้ คือ ครู สกร. จะสามารถนำความรู้และทักษะที่ได้รับไปวิเคราะห์ปัญหาความต้องการของชุมชน และเขียนแผนการพัฒนาในการยกระดับชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังเกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างครู สกร. และมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป

การประชุมครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและชุมชนในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปใช้ขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือได้อย่างยั่งยืนต่อไป

 

ข้อมูล หนึ่งฤทัย แสงใส, เสาวลักษณ์ จันทร์พรหม
ภาพ คณะทำงานการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ
เรียบเรียง รัตนาภรณ์ สารภี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
 เครือข่าย อว. ภาคเหนือ  แยกเป็นกิจกรรมรายวัน ดังต่อไปนี้