เผยแพร่เมื่อ : พฤหัสบดี 3 ธันวาคม 2563 โดย รัตนาภรณ์ สารภี จำนวนผู้เข้าชม 14351 คน
คุยเฟื่องเรื่องเทคโนโลยีกับสถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน(สถช.) กับ เรื่องราวรู้หรือไม่? .... วันนี้พี่ TechTalk ขอแนะนำ "เก้าอี้พักผ่อนจากวัสดุผสมมูลช้าง" ผลงานการออกแบบเก้าอี้พักผ่อน และสร้างต้นแบบจากวัสดุผสมมูลช้าง จากผลงานวิจัยของนักวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เพื่อช่วยลดของเสียและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม
มูลช้าง สามารถนำไปหมุนเวียนใช้ในการผลิตปุ๋ยหมัก แก๊สชีวภาพ และกระดาษมูลช้าง ซึ่งเป็นวิธีการเพิ่มมูลค่าจากของเสียที่เก็บได้จากปางช้าง ในแต่ละวันช้างจะขับถ่ายของเสียเป็นจำนวนมาก การใช้ทักษะการออกแบบเป็นเครื่องมือในการต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยการนำมูลช้างมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพิ่มมูลค่าให้กับของเสียและสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนเป็นการสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น รวมถึงเป็นการช่วงลดของเสียและช่วงรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากวัสดุผสมมูลช้าง เกิดจากความต้องการลดปริมาณมูลช้างจำนวนค่อนข้างมาก ที่เกิดจากธุรกิจการท่องเที่ยวปางช้าง ตำบลกื้ดช้าง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และมีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
นักวิจัยจึงเกิดแนวคิดในการนำมูลช้างมาใช้ทดแทนไม้เมื่อเกิดการขาดแคลนในอนาคต เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ช่วยลดของเสียและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม สร้างเป็น “เก้าอี้พักผ่อน ผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากวัสดุผสมมูลช้าง”
สูตรวัสดุผสมมูลช้างมีส่วนผสมวัสดุหลักละวัสดุเสริมแรง ใช้วัสดุสัดส่วนโดยน้ำหนัก (กรัม) 2 : 2 : 1 : 5
(กาวลาเท็กซ์ 2,000 กรัม : ปูนปลาสเตอร์ 2,000 กรัม : เยื่อมูลช้าง 1,000 กรัม : น้ำ 5,000 กรัม)
อัดวัสดุผสมและเสริมตาข่ายพลาสติก จำนวน 3 ชั้น นำเข้าเตาอบแห้งที่อุณหภูมิ 75 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 80 ชั่วโมง น้ำหนักชิ้นงาน 4,100 กรัม ลักษณะชิ้นงานเก้าอี้วัสดุผสมผิวเรียบคงรูปไม่บิดงอ หดตัว 0.647% ขนาดชิ้นงาน ความกว้าง 413 มม. ความยาว 406 มม. ความสูง 460 มม.
1. ออกแบบรูปทรงเป็นอัตลักษณ์ มีดีไซน์สวยงาม : ใช้รูปทรงและท่าทางของช้างมาเป็นเนื้อหาประกอบการออกแบบและพัฒนาแบบร่างเก้าอี้พักผ่อน แรงบันดาลใจในการออกแบบได้จากรูปทรงและท่าทางของช้าง ซึ่งเป็นสัตว์ใหญ่ในพื้นถิ่นของจังหวัดเชียงใหม่
2. แข็งเรง ทนทาน สามารถรับน้ำหนักได้ : รับน้ำหนักแรงกด 250 กิโลกรัม
3. ต้นทุนวัสดุการผลิตต่ำ : ราคาต้นทุนวัสดุ 990.42 บาท
สุดท้ายนี้ พี่ TechTalk หวังว่า เทคโนโลยีการพัฒนาสูตรวัสดุผสมจากมูลช้างเพื่อทดแทนไม้สำหรับธุรกิจผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่เริ่มขาดแคลน จะเป็นช่วยเป็นไอเดียในการต่อยอดสำหรับเพื่อนๆ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม้อื่นๆ ได้อย่างอิสระนะครับ
ผลงานวิจัยฉบับสมบูรณ์เรื่อง :การออกแบบและทดลองผลิตเก้าอี้พักผ่อนจากวัสดุผสมมูลช้าง (ตระกูลพันธ์ พัชรเมธา, 2562)
ได้ที่ ห้องคลังความรู้ชุมชน มุมผลงานวิจัย มทร.ล้านนา
หรืออ่านแบบออนไลน์ได้ที่ URL Link : https://rmutlresearch.blogspot.com/2021/01/2562.html
#คุยเฟื่องเรื่องเทคโนโลยีกับสถช. #รู้หรือไม่? #DidYouKnow? #มูลช้าง #วัสดุผสม #ผลงานวิจัย #คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ #มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา