วันที่ 11 กรกฎาคม 2562 เวลา 09.00 น. นางเฉลิมศรี สันติธรางกูร รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองบริหารงานบุคคล พร้อมด้วยคณาจารย์ และบุคลากร มทร.ล้านนา เข้าร่วมประกอบพิธีวันสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประจำปี 2562 โดยมีนายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในการประกอบพิธี ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่จัดให้มีการประกอบพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะ และกล่าวคำสดุดีเทิดพระเกียรติ เพื่อเทิดทูนและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย ณ ห้องราชพฤกษ์ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา โดยมี เจ้านายฝ่ายเหนือ กงสุลต่างประเทศ ข้าราชการพลเรือน ตุลากร อัยการ ทหาร ตำรวจ อปท. ครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา กำนัน-ผญบ. กรรมการและสมาชิกของกลุ่มสมาคม ชมรม สโมสร สถาบันต่างๆ รวมถึงประชาชนทุกหมู่เหล่าร่วมในพิธี
สำหรับการจัดพิธีดังกล่าวสืบเนื่องจากที่คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2553 เห็นชอบให้วันที่ 11 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และเป็นวันรัฐพิธี และกำหนดให้ส่วนราชการ ประชาชนและภาคเอกชน วางพวงมาลาถวายราชสักการะ และถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง กับพระอัครมเหสี ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2175 เมื่อยังทรงพระเยาว์ทรงได้รับการศึกษาทั้งด้านวิชาการ การกีฬา การล่าสัตว์ การขี่มา ขี่ช้าง และการแข่งเรือ พระองค์มีแม่นม 2 คน คอยดูแลอภิบาล คือ เจ้าแม่วัดดุสิตซึ่งเป็นมารดาของเจ้าพระยาโกษาธิบดี(ขุนเหล็ก) และเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ราชทูตผู้มีชื่อเสียง แม่นมอีกคนหนึ่ง เป็นมารดาของพระเพทราชา พ.ศ. 2198 พระเจ้าปราสาททองประชวรหนักจึงทรงมอบราชสมบัติให้เจ้าฟ้าชัย พระโอรสองค์โต ซึ่งประสูติจากพระสนม เจ้าฟ้าชัยครองราชย์ได้ประมาณหนึ่งปี ก็ถูกปลงพระชนม์โดยพระศรีสุธรรมราชา พระเจ้าอา พระอนุชา จากนั้นพระศรีสุธรรมราชาก็ขึ้นครองราชย์ และแต่งตั้งให้พระนารายณ์เป็นพระมหาอุปราชวังหน้า หลังจากนั้นประมาณ 2 เดือนพระนารายณ์ก็ได้ปลงพระชนม์สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา เนื่องจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาคิดจะเอาเจ้าฟ้าหญิงศรีสุวรรณหรือพระกนิษฐภคินีร่วมพระชนนีของพระนารายณ์มาเป็นพระชายา หลัง จากนั้นพระนารายณ์ก็เสด็จขึ้นครองราชย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จขึ้นครอง ราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 4 ของพระราชวงศ์ปราสาททอง ใน พ.ศ. 2199 ขณะพระชนมายุได้ 25 พรรษา ทรงพระนามว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 หรือสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสรรเพชญ์ แต่คนทั่วไปนิยมเรียก สมเด็จพระนารายณ์ กรุงศรีอยุธยาในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีความเจริญรุ่งเรืองมาก พระราชกรณียกิจที่สำคัญ เช่นการลดส่วยและงดเก็บภาษีอากรจากราษฎรเป็นเวลา 3 ปีเศษ และการประกาศใช้กฎหมายพระราชกำหนดและกฎหมายเพิ่มเติมลักษณะรับฟ้อง พร้อมทั้งการส่งเสริมงานด้านวรรณกรรม หนังสือที่แต่งในสมัยนี้ เช่น สมุทรโฆษคำฉันท์ โคลงทศรถสอนพระราม โคลงพาลี-สอนน้อง โคลงราชสวัสดิ์ เพลงพยากรณ์กรุงเก่า เพลงยาวบางบท รวมถึงวรรณกรรมชิ้นสำคัญ คือ โคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์ นับเป็น ยุคทองแห่งวรรณกรรม ของไทยยุคหนึ่ง เป็นต้น